ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ (8 มิถุนายน 2498 - ) กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8, ประธานกรรมการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ไวยาวัจกร วัดโสมนัสราชวรวิหาร, อุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์, กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ 6, ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, นายกสมาคมศิษย์เก่าสาธิตปทุมวัน, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 (ส.ส.ร.) ประเภทผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน, อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา, อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม, อดีตรองโฆษกกระทรวงยุติธรรม, อดีตรองอธิบดีกรมคุมประพฤติ, อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (CPLO)
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นบุตรของนาวาอากาศเอก ธัชทอง จันทรางศุ (บุตรคนสุดท้องของอำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดคนแรกของประเทศไทย เป็นอดีตผู้ถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเป็นต้นตระกูลจันทรางศุ โดยเป็นนามสกุลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจันทรางศุ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2457 และคุณหญิงแม้น สุนทรเทพกิจจารักษ์ (แม้น จันทรางศุ) (เดิมชื่อช้อย)) และและนางสุคนธ์ จันทรางศุ (ธิดาของพระประมวลวินิจฉัย (ชัติ สุวรรณทัต) และนางประมวลวินิจฉัย (สุดใจ ประมวลวินิจฉัย) (นามสกุลเดิมฮุนตระกูล))
ธงทองเริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ ระดับ 3 ภาควิชากฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2523 และได้เลื่อนเป็นอาจารย์ระดับ 4 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการหอประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 6 ในวันที่ 8 มิ.ย. พ.ศ. 2526 ต่อมาเป็นรองศาสตราจารย์ ระดับ 7 ในวันที่ 17 ก.ย. พ.ศ. 2527 และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเลื่อนเป็นรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 และเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2542 ในระหว่างเป็นอาจารย์ ได้มีโอกาสปฏิบัติราชการถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี หลายวาระ
ต่อจากนั้นได้โอนมารับราชการพลเรือนสามัญ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ต่อมาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 และดำรงตำแหน่งรองโฆษกกระทรวงยุติธรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (ระดับ 11) กระทั่งในปี พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อปี พ.ศ. 2557 หลังจากที่กลุ่มบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหาร ก็สั่งให้ธงทองย้ายไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558
ในระหว่างที่เป็นอาจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ได้มีโอกาสเข้าถวายงานปฏิบัติราชการถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิการเสด็จพระราชดำเนินตรวจการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 เป็นต้น และถวายงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในหลายวาระ พร้อมกับดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เป็นต้น
และรวมทั้งในฐานะผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญในด้านราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ได้รับเชิญจากทางรัฐบาลในสมัยต่าง ๆ เข้ามารับหน้ากรรมการในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีต่าง ๆ ตั้งแต่งานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน และรวมทั้งยังเป็นกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ และกรรมการพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กร เอกชน มูลนิธิ และหน่วยงานสาธารณกุศลต่าง ๆ หลายแห่ง
และปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่สำคัญ คือ ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสถาบันการศึกษาในรัชกาลที่ 6, กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรรมการมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา
ต่อมาหลังจากเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 ในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559
หนังสือที่ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ได้ทำการแต่ง รวบรวม เรียบเรียง และหนังสือเล่มเก่าที่นำมาจัดพิมพ์ใหม่ รวมทั้งเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นที่ปรึกษาการจัดทำหนังสือ และเป็นอำนวยการจัดทำหนังสือ
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง เป็นผู้สนใจชื่นชอบศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และมีความรอบรู้จนเชี่ยวชาญในด้านนี้ จนทำให้ในเวลาต่อมา ได้มีรายการโทรทัศน์ สำนักข่าว หนังสือพิมพ์ วารสาร และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เชิญออกรายการและให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับเรื่องราวราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ มาโดยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ได้เป็นที่รู้จักทั่วไปของประชาชน รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จึงได้นำเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าจากตำรา หนังสือ และเอกสารต่าง ๆ มาแต่ง รวบรวม เรียบเรียง ในการจัดทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวด้านราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ให้ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ ราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาและได้ความรู้ที่หลากหลาย โดยบางภาพและบางข้อมูล ในแต่ละเล่มที่ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง ได้มาทำการแต่ง รวบรวม เรียบเรียง ไม่เคยพบที่ใดมาก่อนอีกด้วย
ตลอดจนยังได้รับเชิญเป็นกรรมการการจัดทำหนังสือ และเป็นผู้ร่วมคณะทำงาน เป็นที่ปรึกษา และเอื้อเฟื้อข้อมูล ในการจัดทำหนังสือมาแล้วหลายเล่ม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ มากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอนุกรรมการที่ปรึกษาพิจารณาต้นฉบับจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ของกรมศิลปากร
นอกจากนี้แล้ว ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เคยเขียนบทความลงในนิตยสารพลอยแกมเพชร รวมทั้งบทความสารคดีและบทความเฉลิมพระเกียรติลงในนิตยสารสู่อนาคต ฉบับรายสัปดาห์ และเคยเขียนบทความเรื่องสัพเพเหระวัฒนธรรลงในนิตยสารแพรวด้วย ตลอดจนเป็นผู้แต่งบทกลอนต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นกลอนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชบุพการีและเครือญาติแห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ หนังสือเฉลิมพระเกียรติ หนังสือที่ระลึก หนังสือทั่วไป นิตยสาร วารสาร เป็นต้น
และเคยเขียนบทการแสดงละครเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 เรื่อง บุญเพ สถิตเสถียร ในงานวันสถาปนาครบรอบ 50 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2540 และเคยเป็นผู้ดำเนินเรื่องการแสดง “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” ตอน “รอยพระจริยา” เมื่อวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ในโอกาสครบรอบ ๙๐ พรรษาแห่งพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 24 พฤศจิกายน 2558
นอกจากนี้ยังได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาเป็นวิทยากร เสวนา ปฐกถา และบรรยาย เรื่องราวประวัติศาสตร์ ราชสำนัก พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ในโอกาสต่าง ๆ มาแล้วหลายแห่ง
ธงทองเป็นผู้มีความรอบรู้ ชอบอ่านหนังสือ จึงสามารถให้ข้อมูลได้เป็นอย่างดี และใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) จึงเชิญให้เป็นผู้บรรยายประกอบ ในการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องในพระราชสำนัก มาตั้งแต่ พ.ศ. 2528 โดยงานแรกคือ การบรรยายสารคดีพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2530-2539 ทรท.ก็มอบหมายขึ้นเป็นหัวหน้าผู้บรรยายประกอบ ในการถ่ายทอดพระราชพิธีทางโทรทัศน์ ทั้งระดับพระราชพิธีประจำปี เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และทั้งระดับพระราชพิธีพิเศษเฉพาะกาล เช่น พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น
ธงทอง เคยเป็นผู้บรรยายและผู้ดำเนินรายการท้าพิสูจน์ และรายการสารคดีแฝดสยาม (Siamese twins) ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7